ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการใช้เหล็กในทุกอุตสาหกรรมสูงขึ้นทุกๆ ปี ปริมาณการใช้งานต่อปีราวๆ 18-20 ล้านตัน/ปี แม้ว่าไทยยังไม่มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานถลุงเหล็กในประเทศ อาจด้วยหลายสาเหตุ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นการผลิตเหล็กของไทยจึงต้องผลิตจากการนำเศษเหล็กกลับมาหลอมใหม่เพื่อใช้งานอีกครั้ง ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตเหล็กในไทยแบ่งเป็น 2 เทคโนโลยี คือ Electric Arc Furnace (EAF) หรือเรียกกันว่าเหล็ก “EF” และอีกหนึ่งเทคโนโลยีคือ Induction Furnace (IF) หรือเรียกกันว่าเหล็ก “IF”
การผลิตแบบ EF
การผลิตเหล็กแบบ EF หรือทางเทคนิคเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Electric Arc Furnace (EAF) เป็นกระบวนการนำเศษเหล็กมาหลอมใหม่ด้วยการอาร์คไฟฟ้า จนเหล็กหลอมละลาย การหลอมเหล็กด้วยวิธีนี้สามารถนำเศษเหล็กทุกประเภทมาใช้งานได้ เพราะระหว่างการหลอมจะการจำกัดสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่เหล็กหรือที่เรียกกันว่า Slag (ตะกรันเหล็ก) ที่ลอยเหนือผิวน้ำเหล็กออกผ่านช่องกำจัด Slag ข้อดีคือเป็นวิธีกำจัด Slag ได้สะดวกและลดการสูญเสียน้ำเหล็ก การคัดแยกสิ่งแปลกปลอมออกจากน้ำเหล็กเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและความแข็งแรงของเหล็ก น้ำเหล็กที่ได้จะมีความบริสุทธิ์และสามารถปรุงแต่งแร่ธาตุต่างๆ ให้ได้ตามเกรดและมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยหลังจากผ่านกระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมก็จะได้น้ำเหล็กที่มีความสะอาด บริสุทธิ์ จนมีความเข็งแรงพร้อมนำไปใช้งาน
การผลิตแบบ IF
การผลิตเหล็กแบบ IF เป็นการหลอมเหล็กเช่นเดียวกับเหล็ก EF แตกต่างกันที่วิธีการหลอม คือจะใช้การเหนี่ยวนำไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความร้อนจนเหล็กหลอมละลาย สิ่งแปลกปลอมที่มากับเศษเหล็กจะลอยขึ้นสู่ผิวของน้ำเหล็กเช่นกัน เพียงแต่เทคโนโลยีนี้จะใช้วิธีการตะแครงเตาหลอมเพื่อกำจัด Slag ขอเสียคือน้ำเหล็กอาจจะมีสิ่งเจือปนอยู่บ้าง หรืออีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้น้ำเหล็กมีความบริสุทธิ์ สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้คือ ผู้ผลิตต้องใช้เศษเหล็กคุณภาพดีเท่านั้นจึงจะสามารถควบคุมคุณภาพเหล็กได้
ความแตกต่างระหว่าง EF และ IF
เหล็ก EF
- สามารถใช้เศษเหล็กได้ทุกเกรด ทุกประเภท
- ใช้พลังงานน้อยกว่า และควบคุมการใช้พลังงานได้ง่าย
- เหล็กที่ได้จะมีความบริสุทธิ์มากกว่า และกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้
- มั่นใจในเรื่องคุณภาพที่สม่ำเสมอ
- ควบคุมคุณภาพและค่าเคมีในการผลิตได้ดีกว่า
เหล็ก IF
- เศษเหล็กที่ใช้ต้องเป็นเศษเหล็กคุณภาพดี
- ใช้พลังงานค่อนข้างมาก
- เหล็กที่ได้อาจมีสิ่งเจือปน
- ควบคุมคุณภาพและค่าเคมีได้ยากกว่า