การบริหารความเสี่ยง
บริษัทฯ มีความเสี่ยงหลายประการที่เกิดจากการประกอบธุรกิจจึงได้มีการพัฒนาโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงขึ้น โดยใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงที่สามารถจัดการและลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ ด้วยการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทได้จัดให้มีการประชุมความเสี่ยง จากคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงที่ประกอบด้วยผู้มีความรู้ความสามารถจากทุกสายงานขององค์กร เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงดังกล่าว และดำเนินการต่อความเสี่ยงโดยเรียงลำดับความเร่งด่วนของผลกระทบของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเป็นแนวทางการบริหารความเสี่ยงสำหรับกลุ่มบริษัท และใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
อุตสาหกรรมเหล็กของไทยเผชิญกับความเสี่ยงจากการที่ความต้องการสินค้า และราคามีความผันผวนตามฤดูกาล ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงเป็นอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้าของบริษัท อาทิเช่น เหล็กเส้นข้ออ้อยชนิดเกลียว และเหล็กเส้นข้ออ้อยชนิดเกลียวรับแรงดึงสูง (High Tensile Thread Steel Bar) ซึ่งใช้สำหรับงานก่อสร้างที่ต้องการรับแรงดึงสูงเป็นพิเศษกว่างานก่อสร้างทั่วไป เช่น งานก่อสร้างรถไฟฟ้า สะพาน อุโมงค์ ท่าเรือน้ำลึก เขื่อนกักเก็บน้ำ ฯลฯ โดยปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศ ที่สามารถผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อยชนิดเกลียวรับแรงดึงสูงโดยผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆ ในตลาด และลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนในความต้องการสินค้าลง อีกทั้งสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศที่ต้องการเหล็กชนิดดังกล่าวเพื่อการก่อสร้างได้อีกด้วย
อีกทั้งกลุ่มบริษัทยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อโครงการ Green Mill เริ่มดำเนินการผลิตด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย กลุ่มบริษัทก็จะสามารถผลิตเหล็กคุณภาพพิเศษ (Special Grade) ซึ่งมีความบริสุทธิ์และมีเนื้อเรียบกว่าเนื้อเหล็กที่ผลิตโดยเทคโนโลยีทั่วไป จึงเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กคุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่ต้องการเหล็กคุณภาพพิเศษเพื่อใช้ในการผลิตได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทได้ขยายธุรกิจ ไปสู่ผลิตภัณฑ์เหล็กลวด โดยมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่เหล็กลวดเกรดพิเศษเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังต้องนำเข้าเหล็กลวดเกรดพิเศษจากต่างประเทศเท่านั้น ทั้งนี้หากกลุ่มบริษัทสามารถผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อทดแทนการนำเข้าได้นั้น จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเหล็กได้ และสามารถสร้างผลกำไรให้กับกลุ่มบริษัทได้อย่างยังยืน
1. ความเสี่ยงจากการดำเนินการจัดหาวัตถุดิบ
ในการผลิตเหล็กแท่งยาว (Billet) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นกลม,เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวดนั้น บริษัทจำเป็นต้องจัดหาเศษเหล็ก (Scrap) สำหรับเตาหลอมอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace : EAF) ทำให้อาจประสบกับความเสี่ยงด้านระยะเวลาในการจัดหาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และความไม่สม่ำเสมอของเศษเหล็กที่หาได้ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท ได้จัดการลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัท กับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งที่เป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายเศษเหล็กรายใหญ่ในประเทศโดยตรง ตลอดจนมีการจัดหาแหล่งนำเข้าเศษเหล็กจากต่างประเทศ และยังมีการนำเศษเหล็กที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตของโรงงานกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเตาหลอม อีกทั้งยังได้วางแผนการผลิตและการสั่งซื้อวัตถุดิบอย่างรอบคอบและรัดกุม และมีการสร้างและบริหารความสัมพันธ์กับกลุ่มบริษัทจำหน่ายเศษเหล็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ บริษัทมีบริษัทย่อยได้แก่ บริษัท ซันเทค เมทัลส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจด้านบริหารจัดการเศษเหล็กและแปรรูปเศษเหล็กเพื่อขายแก่โรงงานหลอม ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการหลอมเหล็ก เนื่องจากซันเทค มีเครือข่ายในการจัดหาเศษเหล็กที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรับประกันว่า บริษัทจะมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมสามารถนำมาใช้ในการหลอมเหล็ก เพื่อผลิตเหล็กแท่งยาว (Billet) ซึงเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กทรงยาวต่อไป
2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ
จากเดิมที่กลุ่มบริษัท ต้องนำเข้าเหล็กแท่งยาว (Billet) จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการผลิตเหล็กเส้นกลม, เหล็กเส้นข้ออ้อย และ เหล็กลวด ทำให้มีความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบนำเข้าที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าวัตถุดิบของกลุ่มบริษัท แต่เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ สามารถทำการผลิตเหล็กแท่งยาวได้เองจากความสำเร็จของโครงการ Green Mill ทำให้กลุ่มบริษัทได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบลดน้อยลง
กิจกรรมของกลุ่มบริษัทย่อมมีความเสี่ยงทางการเงินที่หลากหลายซึ่งได้แก่ ความเสี่ยงจากตลาด (รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน, ความเสี่ยงด้านมูลค่ายุติธรรมอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ย, ความเสี่ยงด้านกระแสเงินสดอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย และ ความเสี่ยงด้านราคา) ความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อและความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง กลุ่มบริษัทมีแผนการจัดการความเสี่ยงแต่ละประเภทดังนี้
1. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในปี 2562 และ ปี 2561 บริษัทมีมูลค่าการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 38 และ ร้อยละ 20 ของมูลค่าการสั่งซื้อทั้งหมด ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศประมาณร้อยละ 6 และร้อยละ 3 ตามลำดับ ของมูลค่าการขายทั้งหมด โดยเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ผ่านมาบริษัทได้ลดผลกระทบจากความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน โดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward contract) หรือ แปลงหนี้ค่าสินค้าเป็นหนี้เงินสกุลบาท โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของกระแสเงินสดและสถานการณ์ในขณะนั้นๆ
ในอนาคต บริษัทคาดว่าจะยังคงต้องสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศบ้าง และยังคงมองถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้น บริษัทจะยังคงรักษานโยบายลดผลกระทบจากความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนโดยวิธีดังกล่าวต่อไปตามความเหมาะสมของสภาวการณ์ในขณะนั้น ๆ
2. ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทมีหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน ทั้งหนี้สินระยะสั้นและยาว จำนวน 13,975 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของหนี้สินรวม การกู้ยืมของบริษัทส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาทรัสต์รีซีท และ เลตเตอร์ออฟเครดิต เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานผู้ผลิต ซึ่งจะมีอายุของการชำระหนี้มากกว่าการรับชำระเงินของลูกหนี้การค้าของบริษัท
การเปลี่ยนแปลงของภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาด อาจส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยและผลการดำเนินงานของบริษัท อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยในปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้จากการขายและบริการ ในขณะที่ปี 2561 เท่ากับร้อยละ 4 ของรายได้จากการขายและบริการ ขณะที่ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยของปี 2562 คิดเป็น 1 เท่า เมื่อคิดจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี
3. ความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อ
กลุ่มบริษัทไม่มีการกระจุกตัวอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อ กลุ่มบริษัทมีนโยบายที่เหมาะสมเพื่อทำให้เชื่อมั่นได้ว่าได้ขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้าที่มีประวัติสินเชื่ออยู่ในระดับที่เหมาะสม คู่สัญญาในอนุพันธ์ทางการเงินและรายการเงินสดได้เลือกที่จะทำรายการกับสถาบันการเงินที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูง กลุ่มบริษัทมีนโยบายจำกัดวงเงินธุรกรรมการให้สินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างเหมาะสม
4. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
จำนวนเงินสดที่มีอย่างเพียงพอและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีตลาดรองรับย่อมแสดงถึงการจัดการความเสี่ยงของสภาพคล่องอย่างรอบคอบ ความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนแสดงให้เห็นได้จากการที่มีวงเงินกู้ยืมที่ได้มีการตกลงไว้แล้วอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ไม่ได้เบิกออกมาใช้จำนวน 3,437 ล้านบาท และได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อหาแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอในกลุ่มบริษัท ดังนั้น ผู้บริหารเชื่อว่ากลุ่มบริษัทจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
ทางด้านความเสี่ยงอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมการทำงานที่อาจเกิดอันตรายขึ้นได้จากกระบวนการผลิต โดยกลุ่มบริษัท ได้มีนโยบายลดความเสี่ยงดังกล่าวและเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานด้วยอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลกับพนักงาน (Personal Protective Equipment: PPE) และยังมีการตรวจสุขภาพให้แก่พนักงานและประชาชนในชุมชน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ชุมชนรอบโรงงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอันตรายนั้นๆ
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังได้ทำการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ “Health Impact Assessment – HIA” ที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชน ในฐานะที่เป็นประเด็นหลักของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรและภายใต้ระบบคุณภาพของ ISO และ IPPC ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท ได้มีการติดตั้งระบบบำบัดไอเสียและฝุ่น (Fume Treatment Plant and Quenching Tower) ซึ่งจะช่วยกรองอากาศเสียและฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการการผลิต โดยสามารถรับประกันได้ว่าคุณภาพอากาศที่ได้อยู่เหนือระดับมาตรฐานของการควบคุมคุณภาพสากล ถือเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกทางหนึ่ง
แนวทางการพัฒนาความยั่งยืน |
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม |
นโยบายด้านความปลอดภัย |
นโยบายด้านคุณภาพ |